ข้อปฏิบัติของหอพัก
1. ความประพฤติและมารยาท นิสิตต้องปฏิบัติ ดังนี้
1) ปฏิบัติตามระเบียบและกฎของหอพักนิสิตทุกประการ
2) รักษามารยาท ไม่ให้เป็นที่รำคาญหรือรบกวนผู้อื่น
3) แต่งกายสุภาพและเหมาะสมตามกาลเทศะ และไม่แต่งกายชุดนิสิตที่ผิดระเบียบออกนอกบริเวณหอพักโดยเด็ดขาด
4) ควรใช้คำพูดที่สุภาพ และเหมาะสมกับการเป็นนิสิต
5) ไม่เข้าห้องพักของผู้อื่นขณะที่เจ้าของห้องพักไม่อยู่ หรือในยามวิกาล
6) ไม่ส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่น
2. การแต่งกาย นิสิตต้องปฏิบัติ ดังนี้
1) แต่งกายให้สุภาพ แม้อยู่ในห้องพักของตนเอง
2) ถ้าแต่งกายในชุดนิสิตจะต้องให้ถูกต้องตามระเบียบ ไม่ควรสวมเสื้อนิสิตปล่อยชาย และสวมรองเท้าแตะออกนอกบริเวณหอ
3) ไม่สวมชุดนอนหรือชุดที่ไม่สุภาพไปบริเวณชั้นล่างหรือโรงอาหาร
4) เวลาอาบน้ำ ใช้เสื้อคลุมอาบน้ำให้เรียบร้อยสุภาพ (นิสิตหญิง)
3. การร่วมกิจกรรมของหอพักและของมหาวิทยาลัย
นิสิตหอพักทุกคนต้องให้ความร่วมมือเข้าร่วมโครงการต่างๆ ที่บังคับให้นิสิตหอพักปฏิบัติ เช่น โครงการ 5 ส โครงการอบรมและฝึกซ้อมป้องกันอัคคีภัย หากนิสิตไม่เข้าร่วมโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร จะมีผลต่อการพิจารณาให้อยู่หอพักต่อ
นอกจากนั้น นิสิตหอพักจะต้องเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆที่มหาวิทยาลัยขอความร่วมมือ เช่น การร่วมพิธีถวายบังคมในวันปิยมหาราช การเดินเทิดพระเกียรติ 5 ธันวามหาราช เป็นต้น
เมื่อนิสิตเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆแล้ว ให้บันทึกลงในคู่มือนิสิต
4. การช่วยกันรักษาทรัพย์สินส่วนรวม นิสิตต้องปฏิบัติ ดังนี้
1) ช่วยกันรักษาความสะอาดของสถานที่พักอาศัยทั้งในและนอกห้องพัก ทั้งตัวอาคารและบริเวณโดยรอบของหอพัก
2) ไม่นำเครื่องใช้ของหอพัก ซึ่งเป็นของส่วนรวมไปใช้ส่วนตัว
3) ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดอย่างระมัดระวัง เพื่อป้องกันมิให้เกิดอันตรายจากอัคคีภัย
4) ใช้น้ำและไฟฟ้าอย่างประหยัด
5) ไม่ขีดเขียนหรือติดรูปภาพ หรือกระทำการใดๆที่ทำให้ผนังห้องหรือเครื่องใช้ภายในหอพักสกปรกเสียหาย
6) ปิดประตูหลังห้องทุกครั้งที่ไม่อยู่เพื่อป้องกันฝุ่นละอองและฝนสาด
7) นิสิตจะต้องศึกษาหลักปฏิบัติในการใช้สาธารณสมบัติ ได้แก่ ลานซักรีด ลานตากผ้า และ ห้องสุขา ทั้งนี้เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามสากล นิยมได้อย่างถูกต้อง
5. การประหยัดพลังงาน
เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย และสร้างจิตสำนึกที่รับผิดชอบต่อสังคม นิสิตหอพักควรตระหนักในการใช้พลังงานอย่างประหยัดและคุ้มค่า ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ที่นิสิตจะต้องช่วยกัน เช่น
1) ไม่เปิดไฟทิ้งเอาไว้หากไม่ใช้ประโยชน์
2) ไม่เปิดน้ำให้ไหลตลอดเวลาขณะที่ซักผ้าหรือแปรงฟัน
3) ขึ้น-ลง ชั้นเดียว ใช้บันได แทนการใช้ลิฟต์ (อาคารสูง)
6. การรักษาสิ่งแวดล้อม
หอพักนิสิตมีคนอยู่อาศัยจำนวนมาก ดังนั้น ปัญหาเรื่อง สภาพแวดล้อมทั้งน้ำเสีย ขยะ ความสะอาด จึงมีมากตาม โดยเฉพาะ “ขยะที่มีจำนวนมาก” จึงเป็นจิตสำนึกของนิสิตที่จะต้องรักษาสิ่งแวดล้อมของหอพัก เช่น ลดการใช้กล่องโฟมอาหาร ลดการใช้แก้วน้ำพลาสติก แยกขยะประเภทกระดาษ ขวด กล่องพลาสติก
7. การใช้ลิฟต์
ให้กดปุ่มเพียงครั้งเดียว ถ้าจะขึ้นให้กดปุ่มขึ้น ถ้าลงให้กดปุ่มลง เท่านั้น เมื่อกดปุ่มเรียกและมีไฟสว่างขึ้นแล้วไม่จำเป็นต้องกดซ้ำอีก ควรมีมารยาทในการใช้ลิฟท์ เมื่อมีผู้ต้องการใช้มากให้เรียงลำดับผู้มาก่อน-หลังให้เป็นระเบียบเรียบร้อย และต้องรอให้ผู้โดยสารภายในออกจากลิฟต์ก่อน
8. การดูแลรักษาความสะอาดห้องพัก
เป็นหน้าที่ของนิสิตที่ต้องดูแลรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของห้องพัก ทั้งหน้าห้อง ภายในห้อง และหลังห้องพัก จะมีการตรวจห้องพักเป็นครั้งคราว โดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า นิสิตจะต้องทำความสะอาดอยู่เสมอ และมีผลต่อการพิจารณาอยู่หอพักในปีต่อไปด้วย
9. การเก็บรองเท้าหน้าห้องพัก
นิสิตควรวางรองเท้าให้เป็นระเบียบเรียบร้อยตามชั้นวางที่ทางหอพักจัดไว้ (ไม่ให้ใช้ชั้นวางรองเท้าอื่นมาวางเสริม) ห้ามวางรองเท้าบนพื้นหน้าห้องโดยเด็ดขาด เพราะไม่สะดวกในการทำความสะอาดของแม่บ้าน และจะมีการตรวจเช็คทุกวัน หากพบว่านิสิตห้องใดไม่ปฏิบัติตาม จะมีผลต่อการพิจารณาการอยู่หอพักในปีต่อ ๆ ไปด้วย
10. การวางสิ่งของที่ระเบียงหลังห้อง
ห้ามนิสิตวางกระถางต้นไม้และสิ่งของอื่น ๆ บนขอบผนังระเบียงหลังห้องโดยเด็ดขาด เพราะอาจจะเป็นอันตรายต่อผู้อื่นที่เดินผ่านไปมาได้
11. การตากผ้าพาดขอบระเบียง
ห้ามนิสิตตากผ้าหรือวางสิ่งของพาดขอบระเบียงออกมาด้านนอก เพราะทำให้เกิดทัศนะอุดจาด เมื่อมองจากด้านนอก และตากผ้าในที่ที่หอพักจัดให้เท่านั้น
12. การใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า
1) อุปกรณ์ไฟฟ้าที่อนุญาตให้นำมาใช้ในห้องพักคือ พัดลม เครื่องเสียงขนาดย่อม เครื่องเป่าผม เตารีด
2) ให้นิสิตขออนุญาตนำเครื่องไฟฟ้าอื่นๆนอกเหนือจากที่อนุญาตไว้แล้ว เช่น คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์หรืออุปกรณ์ต่อพ่วง เช่น สแกนเนอร์ ปริ้นท์เตอร์ เข้ามาใช้ในห้องพัก พร้อมทั้งชำระค่ากระแสไฟฟ้าตามที่หอพักกำหนด และต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง หากนำเข้ามาโดยพลการ หอพักจะยึดและให้นิสิตนำกลับไปทันที
3) หอพักมีหม้อต้มน้ำไฟฟ้า และตู้ทำน้ำเย็นไว้บริการนิสิตตลอด 24 ชั่วโมง ห้ามนิสิตนำของส่วนตัวมาใช้
4) ห้ามประกอบอาหารภายในห้องพักโดยเด็ดขาด เพราะอาจเกิดอัคคีภัย
13. ด้านสุขภาพของนิสิตหอพัก
1) นิสิตจะต้องเอาใจใส่ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอตลอดระยะเวลาที่พำนักอยู่
2) เมื่อนิสิตเจ็บป่วยกะทันหันควรแจ้งให้อาจารย์ทราบ
3) กรณีที่นิสิตป่วยกะทันหันด้วยโรคติดต่อ ได้แก่ ไข้อีสุกอีใส ไข้หวัดใหญ่ ตับอักเสบ วัณโรค หรือโรคอื่นๆ ซึ่งอาจติดต่อเพื่อนในหอพักได้ นิสิตต้องแจ้งให้ผู้ปกครองประจำหอพักทราบเพื่อจะได้รักษาและให้คำแนะนำต่อไป
4) หอพักมียาสามัญ เช่น ยาแก้ไข้ ยาแก้ปวดท้อง ไว้บริการ เพื่อบรรเทาอาการเบื้องต้นเท่านั้น ให้มาติดต่อขอรับยาได้ โดยที่หอพักจะปิดประกาศให้นิสิตทราบต่อไป
14. การติดตามอ่านประกาศของหอพัก
นิสิตจะต้องติดตามประกาศของมหาวิทยาลัย หรือประกาศเรียกพบนิสิตของหอพักอย่างสม่ำเสมอที่บอร์ดประชาสัมพันธ์ เพื่อจะได้ทราบและปฏิบัติตามได้ถูกต้องและไม่เกิดผลเสียหายตามมา
15. การแจ้งซ่อม
ถ้านิสิตพบว่าในห้องของตนเอง หรือบริเวณรอบหอพักมีอุปกรณ์เครื่องใช้ที่ชำรุด ให้นิสิตแจ้งซ่อม โดยการกรอกข้อความในใบแจ้งซ่อมของชำรุดที่โต๊ะรปภ.ประจำตึก หรือที่สำนักงานหอพัก แล้วทางหอพักจะดำเนินการซ่อมไปตามลำดับ ยกเว้นการชำรุดนั้นเกิดจากการละเลยไม่เอาใจใส่ หรือเกิดจากการกระทำของนิสิต นิสิตที่พักในห้องนั้นจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการซ่อมนั้นๆ ตามมูลค่าความเสียหายที่เกิดจากการกระทำของนิสิต
16. การต้อนรับแขก
1) กำหนดเวลาของการต้อนรับ ตามเวลาที่หอพักกำหนด
2) ใช้ชั้นล่างของอาคารเป็นที่ต้อนรับ
3) นิสิตหอพักต้องคอยดูแลแขกของตนเองให้รักษามารยาทไม่รบกวนผู้อื่น
4) สำหรับหอพักนิสิตหญิง ถ้านิสิตหอพักหญิงต้องการขึ้นตึกพักอื่นๆ ที่มิใช่ตึกพักของตน ต้องขออนุญาตและปฏิบัติดังนี้
4.1 ถ้าไม่ได้ขอพักค้างคืน ให้แจ้ง รปภ.หอพักและเซ็นชื่อ แจ้งเวลาขึ้น-ลง ให้ชัดเจน ในสมุดบันทึก ทั้งนี้ไม่เกินเวลา 22.00 น. และวางบัตรหอพักให้ รปภ. เก็บไว้ และขอคืนเมื่อลงมา
4.2 ถ้าพักค้างคืน
นิสิตหญิง ต้องขออนุญาต และได้รับอนุญาตจากอาจารย์หรือ พี่ ป.โท ประจำตึกพักนั้นๆ โดยใช้ใบพักแขก ขอได้ที่สำนักงานหอพัก
นิสิตชาย ในช่วงที่เปิดเรียน หากมีความจำเป็นที่ต้องพักค้างคืนให้ยื่นเรื่องขออนุญาต และได้รับอนุญาตจากอนุสาสกหอพักนิสิตชายเท่านั้น ส่วนในช่วงปิดภาคเรียน สามารถยื่นขออนุญาตจากอาจารย์หรือ พี่ ป.โท ประจำตึกพักนั้นๆ โดยใช้ใบพักแขก ขอได้ที่สำนักงานหอพัก
5) นิสิตจะต้องดูแลผู้ที่ตนพาขึ้นไปบนหอพักมิให้รบกวน หรือล่วงเกินละเมิดสิทธิ์ของผู้อื่น และต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น
17. การใช้กุญแจห้องพัก
1) นิสิตจะต้องเซ็นรับกุญแจในวันเข้าพักและส่งคืนกุญแจเมื่อไม่ประสงค์จะใช้ห้องพักหรือก่อนกลับบ้านเมื่อสิ้นภาคการศึกษาทุกครั้ง
2) กรณีที่นิสิตลืมกุญแจห้องพัก ให้ไปยืมได้ที่สำนักงาน ชั้น 2 (ตึกพุดซ้อน) ตามวันเวลาทำการ และให้คืนทันทีภายในวันนั้น
18. กองทุนเงินยืมหอพัก
หอพักมีเงินกองทุนเพื่อให้นิสิตที่มีความเดือดร้อนฉุกเฉินยืมได้ ติดต่อที่สำนักงานหอพัก โดยมีระเบียบการ ดังนี้
1) ยืมได้ไม่เกินครั้งละ 500 บาท
2) ส่งคืนภายใน 30 วัน
3) ต้องส่งคืนเงินยืมครั้งก่อน จึงจะอนุญาตให้ยืมครั้งใหม่
4) กรณีที่มีความจำเป็นที่ต้องการยืมมากกว่า 500 บาท ให้ยื่นคำร้องต่ออนุสาสกเพื่อพิจารณาให้ยืมเป็นรายกรณี
19. การใช้บัตรประจำตัวนิสิตหอพัก
1) ก่อนขึ้นตึกพัก นิสิตต้องแสดงบัตรต่อรปภ.และวางบัตรไว้ในที่ที่เตรียมไว้
2) เมื่อออกจากตึกพัก ให้นำบัตรติดตัวไปด้วยทุกครั้ง
3) กรณีที่นิสิตทำบัตรหาย ให้นำหลักฐานไปทำบัตรใหม่ที่สำนักงานหอพักนิสิต
20. การขอกลับดึกหลังเวลา 22.00 น. และการไปค้างคืนนอกหอพัก (เฉพาะนิสิตหญิง)
20.1
มีการแจ้งล่วงหน้า
1) ให้นิสิตเขียนแจ้งก่อนออกจากหอพัก ใน
“สมุดแจ้งการขอกลับดึก/ การไปค้างคืนนอกหอพัก” ซึ่งวางไว้ที่โต๊ะรปภ.แต่ละตึก กรณีที่ขอกลับดึก นิสิตต้องแจ้งภายในเวลา 20.30 น. ของแต่ละวัน
2) การขอกลับดึก หลังเวลา 22.00 น. ต้องมีเหตุผลอันสมควร นิสิตยังไม่ต้องบันทึกเวลากลับเข้าหอพัก ให้บันทึกเมื่อกลับเข้าหอพักเรียบร้อยแล้ว
3) การไปค้างคืนนอกหอพัก รวมถึงการกลับบ้านช่วงปิดภาคการศึกษา ให้นิสิตเขียนแจ้งด้วย และยังไม่ต้องบันทึกเวลากลับเข้าหอพัก ให้บันทึกเมื่อนิสิตกลับเข้าหอพักเรียบร้อยแล้ว
20.2
ไม่ได้แจ้งล่วงหน้า
กรณีที่นิสิตไม่สามารถแจ้งขอกลับดึกล่วงหน้าได้ เมื่อกลับเข้าหอพักให้นิสิตบันทึกไว้ 2 ที่ ดังนี้
1) บันทึกใน
“สมุดกลับดึกหลังเวลา 22.00 น.” ซึ่งวางไว้ที่โต๊ะรปภ.แต่ละตึก (เริ่มบันทึกตั้งแต่เวลา 22.01 น.)
2) บันทึกใน
“บันทึกการกลับดึกหลังเวลา 22.00 น. รายบุคคล”
โดย รปภ. จะเป็นผู้หยิบเอกสารและเซ็นรับรองให้นิสิต
* การกลับดึกหลังเวลา 22.00 น. อาจารย์หอพักจะพิจารณาและตัดคะแนนความประพฤติตามเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งจะประกาศให้ทราบต่อไป
21. การขออนุญาตนำบุคคลภายนอกมาค้างคืน (พักแขก)
1) นิสิตสามารถนำบุคคลภายนอกมาพักได้ครั้งละ 1 คน และพักได้ไม่เกิน 3 วันต่อครั้ง
2) นิสิตควรขออนุญาตล่วงหน้า อย่างน้อย 1 วัน โดยบันทึกใน “บันทึกการขึ้นหอพักของบุคคลภายนอก (พักแขก)” นิสิตหญิงนำไปวางไว้ที่โต๊ะรปภ. อาจารย์ประจำหอพักจะเซ็นอนุญาตให้ ในการบันทึกช่อง “ที่อยู่” นิสิตชายในช่วงเปิดเรียนให้นำเอกสารการขอพักแขกไปยื่นที่สำนักงานหอพักนิสิต ส่วนในช่วงปิดภาคเรียนให้ติดต่อขออนุญาตจากอาจารย์หรือ พี่ ป.โท ประจำตึกพักนั้นๆ โดยใช้ใบพักแขก ขอได้ที่สำนักงานหอพัก กรณีที่เป็นบุคคลภายนอก ให้เขียนที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน ถ้าเป็นนิสิตจุฬาฯ ให้เขียนคณะ และเลขประจำตัวนิสิต
3) นิสิตนำบันทึกฯ ที่มีลายเซ็นอนุญาตแล้ว ไปชำระค่าพักค้างคืนที่ สำนักงานหอพัก ชั้น 2 ตึกพุดซ้อน และให้แขกใช้ใบเสร็จรับเงิน เป็นหลักฐานการขึ้นพัก โดยเสียค่าที่พัก ตามอัตราที่กำหนด
4) การนำบุคคลภายนอกมาค้างคืนในช่วงที่มีการสอบและช่วงปิดภาคการศึกษา
กรณีช่วงสอบ : ไม่อนุญาตให้นิสิตนำบุคคลภายนอกมาพัก ยกเว้น นิสิตจุฬาฯ ที่มีความจำเป็นเกี่ยวกับการมาสอบ
กรณีช่วงปิดภาคการศึกษา : นิสิตสามารถนำนิสิตจุฬาฯ และบุคคลภายนอก ซึ่งเป็นญาติที่มีชื่อในทะเบียนบ้านกับนิสิตมาพักกับนิสิตในช่วงนั้นได้ โดยที่นิสิตต้องเป็นผู้ที่พักอยู่ด้วยในช่วงนั้น และเป็นนิสิตที่ได้สิทธิ์อยู่หอพักในภาคการศึกษาต่อไป
5) นิสิตที่นำบุคคลอื่นมาพักค้างคืน ต้องไม่ให้บุคคลนั้นล่วงเกินสิทธิ์ของเพื่อนร่วมห้อง และเพื่อนร่วมชั้น ถ้าเกิดเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ นิสิตผู้นำบุคคลอื่นมาพักต้องเป็นผู้รับผิดชอบ
6) บันทึกการขึ้นหอพักของบุคคลภายนอก (พักแขก) เป็นเอกสารส่วนบุคคล ห้ามนิสิตนำบันทึกฯของผู้อื่นมาใช้โดยเด็ดขาด
7) กรณีที่นิสิตทำบันทึกฯหาย ให้ไปแจ้งขอฉบับใหม่ที่สำนักงานหอพักเวลา 08.00 – 20.00 น. โดยชำระค่าปรับ 20 บาท
ดาวน์โหลดไฟล์pdf